VMware Virtual Network Editor
- Details
- Category: Virtual Machine
- Published on 05/09/2012
- Hits: 48573
Network Card บน VMware Workstation 8 นี้เราจำเป็นต้องทำความรู้จักกันซักนิด เพราะคุณจะต้องนำไปใช้ในการทำ LAB ทั้งหลายเพื่อทดสอบรูปแบบ Infrastructure ซึ่งหลัก ๆ แล้ว Network บน VMware Workstation จะแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบตามการใช้งาน
แอบดีใจซักนิดครับ เพราะผมจำได้ว่า VMware Workstation รุ่นเก่า ๆ นั้น เมื่อติดตั้งลงไปแล้ว และเมื่อคุณไปตรวจสอบ Virtual Network Card จะพบว่า มันโผล่มาให้พรึบ อยู่ดี ๆ ก็มี NIC 8 ใบมาในเครื่อง ซึ่งนั่นก็ไม่รู้เลยว่ามันมาอย่างไร แล้วใช้อย่างไรบ้าง แต่รู้สึกว่าบนเวอร์ชั่นนี้จะมี Virtual Network Card มาให้ 2 NIC และคุณสามารถสร้างมันเพิ่มขึ้นเองได้ภายหลังตามรูปแบบการใช้งานดังนี้
Bridge - เป็น Network ประเภทที่เชื่อมต่อระหว่าง Guest OS กับ Network Card จริงของ Host OS โดยจะอาศัย NIC ของ Host OS ในการเชื่อมต่อไปยัง LAN และ WAN หรือ Internet โดย Guest OS ที่ใช้ Bridge นั้นจะถูกมองเสมือนว่าเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์จริง ๆ ภายในเครือข่ายจริง และสามารถรับ IP จาก DHCP Server ที่ติดตั้งอยู่ในเครือข่ายได้
Host-only - เป็น Network ใช้สำหรับติดต่อสื่อสารกันระหว่าง Guest OS และ Host OS เท่านั้น ไม่สามารถเชื่อมต่อไป LAN หรือ WAN ได้โดยตรง ซึ่งอาจใช้สำหรับทดสอบระบบภายใน VMware เองโดยไม่ให้กระทบกับ Network ภายนอก เช่น ติดตั้งทดสอบ DHCP Server ซึ่งถ้าหากไม่เลือกใช้ Network Host-only แล้วล่ะก็ อาจจะกระทบกับการแจกจ่าย IP Address บนเครือข่ายจริงก็ได้
NAT - เป็น Network ที่ยินยอมให้ Guest OS สามารถเชื่อมต่อออกมายังเครือข่ายจริง หรือออกไปยัง Internet ได้โดยอาศัยการ NAT ของ VMware เอง แต่ Guest OS จะไม่ถูกมองเป็นส่วนหนึ่งของ Network ที่ใช้งานอยู่ซึ่งต่างจาก Bridged และหากต้องการติดต่อกลับไปยัง Guest OS ใน Network ประเภท NAT จะต้องตั้งค่า Port Forwarding เสียก่อน
Virtual Network Card ของ VMware นั้นจะถูกกำหนดด้วยชื่อสมมติ เช่น VMnet0, VMnet1, VMnet8 โดยชื่อเหล่านี้หากมีการสร้างขึ้นมาเพิ่ม ก็จะมี Virtual Network Card เพิ่มขึ้นตามจำนวน ยกเว้นประเภท Bridged เพราะอาศัย Network Card ของ Host OS เท่านั้น
Setting Virtual Network Editor
สามารถจัดการได้ผ่านทางเมนู Edit > Virtual Network Editor หรือคลิกเมนูที่แถบ Home ได้ทันที
ในหน้า Dialog Virtual Network Editor จะเห็นว่า เริ่มต้นนั้นจะประกอบไปด้วย Network 3 ประเภทอย่างที่กล่าวไป
ซึ่งถ้าหากเลือก Network เป็นแบบ Bridge ก็จะต้องกำหนดด้วยว่าจะให้ทำการ Bridged Network ระหว่าง Guest OS และ Host OS ด้วย Network Card จริงอันไหน
ถ้าเลือก Network เป็นแบบ Host-only ก็จะต้องมีการกำหนดด้วยว่า Network ของ Guest OS ที่ถูกกำหนดให้ใช้ Network Card นี้ จะถูกจัดอยู่ในกลุ่ม IP Address กลุ่มใด
ซึ่งทั้งนี้เราสามารถกำหนดให้ใช้งานฟิเจอร์ DHCP ของ VMware เองในการแจกจ่าย IP Address ให้กับ Guest OS ที่อยู่ใน Network กลุ่มนี้ได้อีกด้วย โดยคลิกปุ่ม DHCP Settings
และถ้าเลือกใช้งาน Network แบบ NAT ก็จะต้องกำหนดกลุ่ม IP Address ให้ด้วยเช่นกัน, สามารถตั้งค่า DHCP ได้เหมือนกัน แต่จะใช้คุณสมบัติที่เหมือนกับมีสวิตช์จำลองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการทำ Network address translation ส่งแพ็คเกจจาก Guest OS ออกมาข้างนอกได้
หากทดสอบ Guest OS ด้วยการ Ping แล้ว จะพบว่า Guest OS ที่ใช้ Network NAT จะสามารถ Ping ได้ปกติ แต่ทั้งนี้มันก็ใช้ได้แค่ Ping ครับ หากคุณมีการทดสอบ Application อื่น ๆ ก็จะต้องทำ Port Forwarding ด้วย โดยการคลิก NAT Settings
แล้วคลิก Add
จะพาไปสำรวจ Virtual Network Card กันซักนิดครับ ให้เปิด Network Connections บน Windows ขึ้นมา
จะพบว่ามี Virtual Network Card อยู่ 2 ใบ คือ Vmware Network Adapter Vmnet1 และ Vmware Network Adapter Vmnet8 ตรงนี้แหล่ะครับที่ Guest OS จะใช้ติดต่อกับ Host OS โดยผ่าน NIC เหล่านี้แหล่ะ ซึ่ง Network Card ที่ VMware สร้างขึ้นนี้ ก็มี IP Address เป็นของตนเองด้วย ซึ่ง IP Address นี้ก็ต้องอยู่ในกลุ่มเดียวกับ Guest OS ด้วย ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถติดต่อออกมายัง Host OS ได้ หากเรามีการปรับเปลี่ยนการแจกจ่าย DHCP ให้กับ Guest OS ก็อย่าลืมมาสำรวจ Network Card เหล่านี้ด้วยนะครับว่ามี IP Address เป็น Subnet หรือ Network เดียวกันหรือไม่
การกำหนด Guest OS ว่าให้ใช้ Network Card ชนิดใดนั้น สามารถทำได้โดยการคลิกที่ Virtual Machine แล้วคลิก Edit virtual machine settings
ในหน้า Virtual Machine Settings นี้จะประกอบไปด้วยการตั้งค่ามากมายของ Virtual Machine ครับ แต่ให้เราพุ่งเป้ามาที่ Network Adapter
เราสามารถเลือกประเภทของ Network Adapter ได้ 5 ตัวเลือก ซึ่ง 3 แบบแรกนั้นก็ได้กล่าวไปแล้วคือ Bridged, NAT และ Host-only, และสำหรับ Custom นั่นก็คือ Virtual Network Card ที่เราได้สร้างเพิ่มขึ้นมานั่นเอง โดยเราสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อเลือกใช้ Network Card ใบอื่นได้
Guest OS ที่ถูกกำหนดให้ใช้ Network Card แบบ Custom แล้วหากต้องการติดต่อกับ Guest OS ตัวอื่น ก็จะต้องกำหนดให้อยู่ภายใน Virtual Network เดียวกัน และต้องมี IP Address กลุ่มเดียวกัน หาก Guest OS อยู่ต่าง Virtual Network กัน จะไม่สามารถติดต่อกันได้
ส่วนอีกคุณสมบัติหนึ่งก็คือ LAN segment ซึ่งถูกเพิ่มเข้ามาใน VMware Workstation 8 ใหม่ ๆ ซึ่งเรื่อง Segment นี้อาจจะต้องย้อนความเดิมไปถึงเรื่อง Network กันมากหน่อย ดังนั้นจะไม่ขอพูดถึงตรงนี้ครับ